ความรู้สึกไม่ดีพอ คืออะไร

ความรู้สึกไม่ดีพอ คืออะไร

บ่อยครั้งที่เรารู้สึกว่าที่ทำไปนั้นยังไม่ดีเลย รางวัลที่ได้มาก็เพราะฟลุค กลัวเหมือนกันว่าจะมีคนรู้ว่าเราไม่เก่งพอกับรางวัลนั้น


ราวเกือบสิบปีมาแล้ว อ่านบทความจนถึงเนื้อหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับ Imposter Syndrome หรืออาการที่รู้สึกว่าเรายังดีไม่พอ จะพบว่าคนเก่งจำนวนมากที่มีความรู้สึกเช่นนี้ และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงเก่ง ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Entrepreneur แต่ไม่นานนี้ก็ได้พบวีดีโอที่มีคนเก่งที่เป็นผู้ชายก็พูดถึงด้วยว่าตัวเองมีอาการนี้เช่นกัน

ความรู้สึกไม่ดีพอนี้นำไปสู่ความกลัวว่าจะมีคนจับได้ว่าเราไม่เก่งพอ เกรงว่าคนจะรู้ว่าเรามีฝีมือไม่เท่าไร บางครั้งทำให้เราปิดบังซ่อนตัว หรือไม่ค่อยอยากออกสู่สังคมเท่าไร หรืออาจจะไม่กล้าภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง

แต่ในความรู้สึกนี้ก็นำไปสู่ข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น คนเก่งกลุ่มนี้ก็จะพยามอย่างมากที่จะทำงานให้ได้ดีที่สุด จะศึกษาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อลงมือทำก็จะทำอย่างเต็มที่ ทำอย่างรอบคอบที่สุดเพื่อให้ไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง เรียกว่าเป็นคนที่ทำงานหนักมาก และผลแห่งการทำงานอย่างดีของเขาก็มักนำมาซึ่งผลงานชั้นดี ประสบความสำเร็จ หากมีการประกวดก็ถึงระดับที่จะได้รับรางวัลทีเดียว นี่เป็นแรงขับเคลื่อนและผลลัพธ์ของความรู้สึกไม่ดีพอของคนเก่งกลุ่มนี้

ที่เล่ามานี้ก็เพื่อวาดภาพให้เห็นว่าคนเก่งจำนวนหนึ่งที่เราเห็นภาพความสำเร็จของเขา แท้จริงแล้วมีแรงขับเคลื่อนแบบนี้ เพราะอาจมีคนที่รู้สึกว่าเพื่อนบางคนเก่งมากมีพรสวรรค์แค่จับๆปัดๆนิดหน่อยงานก็ดีเยี่ยมได้แล้ว เราทำเท่าไรก็ยังไม่ได้งานแบบนั้นเลย ถ้าเราคิดเช่นนี้ก็จะผิวเผินไปหน่อย เพราะเบื้องหลังความสำเร็จมีหลายเหตุผลมาก บางคนตั้งใจทำอย่างดี และบางคนตั้งใจทำอย่างดีมากๆเพราะรู้สึกว่าทำเท่าไรก็ยังดีไม่พอ

หากแรงขับเคลื่อนของเราเกิดจาก “ความรู้สึกไม่ดีพอ” เช่นนี้แล้วหล่ะก็ แนะนำว่านอกจากใช้ไปเพื่อการเตรียมการต่างๆให้ดีที่สุด ทำงานให้รอบคอบที่สุด สร้างผลลัพธ์ของงานอย่างเต็มที่แบบที่เราถนัด และเมื่อส่งมอบงานแล้วให้ทำความเข้าใจกับตัวเองว่ามีคนเก่งจำนวนมากก็รู้สึกคล้ายๆกับเรา ให้วางใจว่าไม่ว่าคนอื่นจะพูดถึงงานของเราอย่างไร เราก็ได้ทำดีที่สุด ณ เวลานั้นแล้ว ให้รู้สึกดีกับตัวเอง ชื่นชมและให้กำลังใจตัวเองบ่อยๆเพื่อให้เดินเชิดหน้าไปข้างหน้าได้ด้วยความรู้สึกที่ดี

หากเรารู้ว่าคนใกล้ตัวเรามี “ความรู้สึกไม่ดีพอ” ก็ให้ระวังคำพูดหรือการแสดงออกของเราที่จะไปลดทอนความเชื่อมั่นในตัวเขาลง ให้พูดเชียร์ สนับสนุน และให้กำลังใจเพื่อสร้างความมั่นใจให้เขาว่างานนี้ดีมากแล้ว หรืองานนี้มันยอดเยี่ยมอย่างไร และอย่าลืมว่า Imposter Syndrome ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำงาน แต่อาจจะขยายวงกว้างไปถึงความสัมพันธ์ด้วย เช่น เพื่อน ครอบครัว คนรัก เป็นต้น

ความรู้สึกไม่ดีพอ บริหารจัดการได้ด้วยการทำความเข้าใจกับตัวเอง และคนรอบข้างสนับสนุนให้กำลังใจค่ะ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้