3 ปัจจัยที่ทำให้การโค้ชได้ผล

การโค้ชที่ได้ผล

การโค้ชเป็นบทสนทนาที่พิเศษและต้องการผลลัพธ์ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งเสริมให้การสนทนานั้นพิเศษและได้ผลลัพธ์  

ผู้รับการโค้ชมาพบโค้ชก็เพราะมีประเด็นที่อยากพูดคุยด้วย เช่น ต้องการคำตอบในประเด็นต่างๆ ต้องการทำความเข้าใจในบางเรื่อง ต้องการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป็นต้น การพูดคุยเรื่องสำคัญแบบนี้ทำให้โค้ชต้องเตรียมตัวมากทีเดียวเพื่อให้การสนทนาแต่ละครั้งได้ผลลัพธ์ตามที่ถูกคาดหวังไว้

ปัจจัยที่ทำให้การโค้ชได้ผล ได้แก่

1. การจัดบรรยากาศ

เมื่อโค้ชและผู้รับการโค้ชพบกันแล้ว ก่อนจะเริ่มสนทนาในหัวข้อที่ต้องการ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมของทั้งสองฝ่ายก่อน ทั้งการเตรียมทางกายภาพ เช่น อยู่ในสถานที่เงียบหรือไม่ถูกรบกวนได้ง่าย รวมทั้งควรเป็นสถานที่มีความส่วนตัวพอสมควร สามารถพูดคุยได้โดยไม่กังวล การเตรียมให้สมองโล่งๆเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ผู้รับการโค้ชสามารถคิดในระหว่างการสนทนาได้เต็มที่

โค้ชอาจจะให้ผู้รับการโค้ชทำสมาธิ รวบรวมสติโดยการอยู่กับลมหายใจ 2 นาที บางคนอาจจะหลับตาด้วยก็ได้ บางคนอาจจะใช้วิธีจดหรือเขียนความกังวลในงานอื่นๆออกมาเพื่อจะพักความคิดนั้นไว้ก่อน เป็นต้น

โค้ชบอกกติกาหรือทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า การโค้ชคืออะไร ในระหว่างการโค้ชจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง เช่น โค้ชจะไม่ได้ให้คำตอบแต่จะชวนคิดโดยใช้คำถาม ผู้รับการโค้ชสามารถใช้เวลาในการคิดได้เท่าที่ต้องการ สามารถคิดได้อย่างอิสระไม่มีถูกหรือผิด เป็นต้น

2. บทสนทนาเพื่อการค้นพบ

ทักษะโค้ชชิ่งประกอบด้วย การฟัง การใช้คำถาม การจับประเด็นและการสะท้อนกลับ การสร้างให้การสนทนาครั้งนั้นๆพิเศษทำได้โดย การฟังอย่างใส่ใจ ฟังโดยไม่พิพากษาว่าสิ่งนั้นใช่หรือไม่ใช่ ฟังถึงน้ำเสียง จังหวะการพูด สังเกตว่าภาษากายบอกอะไร รวมทั้งให้พื้นที่และเวลากับผู้รับการโค้ชในการพูด พูดเพื่อเรียบเรียงความคิด แสดงความเห็น คิดสร้างสรรค์ ความเงียบของโค้ชทำให้เกิดช่วงเวลาที่พิเศษซึ่งเขาอาจไม่เคยได้รับมาก่อน

การจับประเด็นของโค้ชจะแหลมคมเมื่อโค้ชอยู่กับปัจจุบันขณะ การสะท้อนประเด็นเหล่านั้นจะทำให้ผู้รับการโค้ชเกิดความกระจ่างในประเด็นการสนทนา เมื่อความคิดตกตะกอนก็เกิดความชัดเจนในเรื่องราว การใช้คำถามของโค้ชช่วยให้ผู้รับการโค้ชมีมุมมองหลากหลาย หรือแม้กระทั่งฉุกคิดในด้านที่ไม่ได้คิดมาก่อน

การสนทนานั้นจึงแตกต่างจากการพูดคุยทั่วไป

3. สร้างการจดจำ

แม้ว่าการโค้ชครั้งนั้นเป็นความรู้สึกที่ดี แต่ก็อาจจะไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรจากก่อนมาโค้ชชิ่ง ดังนั้นโค้ชจึงต้องเชิญชวนให้ผู้รับการโค้ชได้บอกว่าเขาได้อะไรบ้างจากการโค้ช เขาเรียนรู้อะไรบ้าง และเขาวางแผนอย่างไรบ้าง จะทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ โค้ชยังสามารถชวนคิดต่อไปได้อีกว่าครั้งต่อไปเขาน่าจะมีอะไรมาเล่าอัพเดตให้โค้ชฟังบ้าง

การสนทนาในตอนท้ายนี้จะทำให้ผู้รับการโค้ชจำได้ว่าเขาได้อะไรบ้างจากโค้ชชิ่ง และเขาจะทำอะไรบ้างต่อจากนี้ไป

การสนทนาแบบโค้ชชิ่งจะพิเศษได้ก็ด้วยปัจจัยที่เรียงร้อยอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดบรรยากาศ การสนทนาเพื่อการค้นพบ และการสร้างการจดจำในตอนท้าย


 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้