เรามักได้ยินว่าการโค้ชเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับผลงานให้กับองค์กร ไม่ว่าการโค้ชนั้นจะเป็นแบบเดี่ยวหรือโค้ชกลุ่มก็ตาม และองค์กรชั้นนำก็มีโค้ชชิ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรด้วย
บทความนี้จะนำงานวิจัยที่เป็น Academic Paper ที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วมาเล่าให้ฟัง
งานวิจัยศึกษาว่า Coaching จะส่งผลต่อ Well-being ความเป็นอยู่ และ Performance ผลงานของผู้จัดการและทีมงานอย่างไร โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับการโค้ชทั้งแบบเดี่ยว&กลุ่มและกลุ่มที่ไม่ได้รับการโค้ช เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิดและได้รับคำสั่งให้ทำงานจากบ้านซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคย
ผลการวิจัยพบว่าการโค้ชส่งผลกระทบเชิงบวก กลุ่มที่ได้รับการโค้ชมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเชิงบวก ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับการโค้ชมีคะแนนหลายด้านที่ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการโค้ช
ในด้าน Well-being ข้อย่อยเรื่อง Self-Acceptance การยอมรับตัวเองได้คะแนนสูงขึ้น ในขณะกลุ่มที่ไม่ได้รับการโค้ชได้คะแนนลดลง ข้อย่อยเรื่อง Autonomy และข้อย่อยเรื่อง Personal Growth กลุ่มที่ได้รับการโค้ชได้คะแนนเป็นบวกในขณะที่กลุ่มไม่ได้รับการโค้ชได้คะแนนติดลบ โดยงานวิจัยได้อธิบายว่าในแต่ละสัปดาห์พวกเขาได้พบเห็นวิธีการแก้ปัญหาและคำแนะนำมากขึ้นจากเพื่อนร่วมกลุ่ม พวกเขายังมีโอกาสแชร์ความคิด และจัดการงานต่างๆผ่านการโค้ชกลุ่มด้วย การโค้ชกลุ่มจึงส่งผลดีต่อคะแนนรวมด้าน Well-being ของผู้รับการโค้ช
ในด้าน Performance ข้อย่อยทั้ง Manager Performance และ Team Performance มีผลลัพธ์ออกมาในทำนองเดียวกันคือ กลุ่มที่ได้รับการโค้ชมีคะแนนสูงกว่าทั้ง 2 ข้อย่อย โดยในงานวิจัยได้ชี้ว่าคะแนนที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากการโค้ช และหากได้รับการโค้ชเป็นระยะเวลานานขึ้นคะแนนก็น่าจะสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับการโค้ชยังกล่าวอีกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่ได้มีปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมายตลอด 5 สัปดาห์ การโค้ชทำให้พวกเขาได้แชร์ประสบการณ์ ได้ฟังผู้อื่น การเรียนรู้ซึ่งกันและกันช่วยในการโค้ชแบบกลุ่มนำไปประยุกต์ใช้ในงานได้ ในกลุ่มที่มีสมาชิกที่หลากหลายก็ยิ่งทำให้ได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง บทบาทและประสบการณ์ที่หลากหลาย
ผู้เข้าร่วมงานวิจัยสรุปว่า การมีพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีการพิพากษา ทำให้ผู้เข้าร่วมการโค้ชได้รับการฟังที่เคารพและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ได้รับการสนับสนุนไม่ให้ติดขัด ระดับความตระหนักรู้ในตนเองเพิ่มขึ้นและมีมุมมองที่ดีขึ้น และได้เรียนรู้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์
โดยรวม กลุ่มที่ได้รับการโค้ชเกิด Positive shifts การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกทั้งด้านการคิด การตระหนักรู้ในตนเอง การยอมรับตนเอง เรียนรู้และเติบโต สามารถเพิ่ม Productivity ทำงานจนบรรลุเป้าหมายได้
ผลลัพธ์ที่กล่าวมานี้มาจากงานวิจัยในระยะแรกของยุคโควิด ถึงแม้ว่าโรคไวรัสโควิดนี้จะปรากฎขึ้นแล้วหลายระลอก คนทำงานต่างก็ปรับตัวกันไปมากแล้ว แต่ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ ดิฉันเชื่อว่าการโค้ชเดี่ยวและกลุ่มก็ยังคงมีประโยชน์ต่อ Well-being และ Performance ของคนทำงานอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิงงานวิจัย The impact of coaching on well-being and performance of managers and their teams during pandemic โดย Joanna Jarosz ตีพิมพ์ใน International Journal of Evidence Based Coaching and Mentoringม 2021, Vol. 19(1), pp.4-27.
ดร.หนิง ดไนยา ตั้งอุทัยสุข
ติดตามได้ทาง Line OA คุณจะไม่พลาดบทความพัฒนาผู้นำจากเรา
https://lin.ee/CWQqKwT