ความขัดแย้งในการทำงานร่วมกัน

ความขัดแย้งในการทำงานร่วมกัน

การทำงานให้สำเร็จใช้อะไร ความสัมพันธ์ หรือ ผลลัพธ์

ความขัดแย้งในการทำงานเป็นทีม คนนึงค่อยๆคุยค่อยๆคิด อีกคนต้องการให้โฟกัสที่ผลลัพธ์ เมื่อวิธีคิดไม่ตรงกันก็ย่อมเกิดความขัดแย้งเป็นธรรมดา

เวลาทำ Team Coaching เราจะพบว่ามีคลื่นความถี่ที่ไม่เท่ากันของคนในทีม จริงอยู่ว่าทุกคนอยากบรรลุเป้าหมายแต่สิ่งที่ยังไม่ซิงค์ (Synchronize) กันคือ วิธีการทำงาน

คนกลุ่มนึงจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคนในทีม เขาจะเรียกคนในทีมด้วยคำว่าพี่หรือน้องแล้วตามด้วยชื่อ เขาจะใส่ใจว่าขณะนี้แต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง เข้าใจสารทุกข์สุกดิบ ซึ่งอาจจะทำให้ถูกมองว่าเป็นคนช้า ไม่เร่งลงมือทำการทำงาน มัวแต่ทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้

ในขณะที่อีกกลุ่มนึงจะโฟกัสไปที่งานทันที สนใจว่าจะทำอย่างไรให้งานสำเร็จ ต้องวางแผนอย่างไร กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร ต้องใช้เครื่องมืออะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การโฟกัสงานงานเป็นหลักก็อาจจะทำให้ถูกมองว่าไม่มีหัวใจ ไม่แคร์คน สนใจแต่งาน เป็นต้น

ในหนังสือ “สื่อสารให้ได้ใจ ไขความลับสมองคน” อธิบายว่า รูปแบบความคิดและรูปแบบพฤติกรรมที่แตกต่างนี้ ไม่ได้บ่งบอกว่าใครดีกว่าใคร หรือแบบไหนถูกต้องกว่ากัน เพราะรูปแบบที่เป็นธรรมชาติเหล่านี้เป็นความถนัดในการทำงานให้สำเร็จของคนที่แตกต่างกัน หากเราเข้าใจว่าคนไม่เหมือนกันเราก็จะสามารถนำจุดเด่นของแต่ละแบบขึ้นมาสร้างประโยชน์ร่วมกันได้ และรู้ว่าจะสื่อสารกับคนแต่ละแบบอย่างไรให้เข้าใจกันโดยไม่ต้องไปบอกว่าถูกหรือผิด ชอบหรือไม่ชอบ

คนกลุ่มแรกที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสายสัมพันธ์ มีความเชื่อว่าคนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน หากเราให้เขาทำหน้าที่ประสานใจ การเชื่อมโยงแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน การสร้างสัมพันธ์ระหว่างคนในทีม หรือแม้กระทั่งการสร้างความเป็นทีมก็เป็นเรื่องที่เขาทำได้โดยธรรมชาติ หากงานบรรลุเป้าหมายเขาก็จะให้เครดิตกับคนทั้งทีม

คนกลุ่มที่สองที่ให้ความสำคัญกับงานมีความเชื่อว่าคนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน เวลาพูดคุยกับเขาให้เอาเรื่องงาน กระบวนการทำงาน วิธีการทำงาน ระบบงาน เป้าหมาย กลยุทธ์ แผนงาน มาเป็นหลัก จะทำให้งานเดินหน้าอย่างไร มีอะไรมารองรับ ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เขาจะสนใจและสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ และเมื่องานบรรลุเป้าหมายเขาก็จะพูดถึงผลลัพธ์เป็นหลักเช่นกัน

ความขัดแย้งในการทำงานที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างในธรรมชาติของแต่ละคนสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำความเข้าใจกัน ถ้ามีแต่คนแบบเดียวเท่านั้นทีมก็คงไม่กลมกล่อม ถ้าไม่ใช่เทไปทางความสัมพันธ์ที่ดีอย่างเดียวจนอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย ก็จะเป็นมีแต่ผลลัพธ์ของงานแต่คนไม่ได้มีการเชื่อมสัมพันธ์กันเลย

ความแตกต่างในรูปแบบความคิดและรูปแบบพฤติกรรมจึงมีความสำคัญในการทำให้ทีมสมบูรณ์



ดร.หนิง ดไนยา ตั้งอุทัยสุข

โค้ชผู้บริหารและนักพัฒนาผู้นำ

ติดตามได้ที่ Line @ExcellenceResource เพื่ออัพเดตสิ่งที่ต้องรู้และคุณจะไม่พลาดเนื้อหาการพัฒนาผู้นำ 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้