โค้ชชิ่ง คือ วิธีหนึ่งของการพัฒนาผู้นำ และพัฒนาบุคลากร คนที่เชิญโค้ช หรือทำหน้าที่เลือกโค้ช เข้ามาในองค์กรคือทีมทรัพยากรมนุษย์ HR หรือแผนกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร ถ้าได้โค้ชดี ผู้รับการโค้ชได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ทีมที่คัดสรรก็คงได้รับคำชมไปด้วย
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะให้เทคนิคกับทีม HR หรือผู้คัดเลือกโค้ช เพื่อจะได้ไม่พลาดในการสรรหาโค้ชและได้มีแนวทางในการคัดสรรโค้ชที่เหมาะสม โค้ชที่ใช่สำหรับองค์กร ซึ่งเป็นแนวทางง่ายๆทำตามได้
เลือกโค้ชดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
คำพูดนี้เป็นความจริงสำหรับผู้เชิญ ผู้รับการโค้ช และองค์กรซึ่งเป็นผู้ลงทุนในการพัฒนาบุคลากร ในที่นี้จะนำเสนอเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงทำรายชื่อ ช่วงที่เชิญมาทำความรู้จัก และช่วงที่ทำการโค้ชชิ่ง
ช่วงทำรายชื่อ
ก่อนที่จะจัดทำรายชื่อโค้ช ขอให้ทีมพิจารณาก่อนว่า
1. เราจะเชิญโค้ชมาโค้ชชิ่งให้ใคร ผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร
โค้ชเป็นวิชาชีพที่มีความเฉพาะด้าน ถ้าเปรียบกับแพทย์ที่มีแพทย์เฉพาะทางหลายด้านก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ปวดฟันก็หาทันตแพทย์ ปวดท้องก็หาหมออายุกรรม ให้ตรงกับความต้องการ ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าผู้ที่จะรับการโค้ชเป็นผู้บริหาร เราก็ควรหาคนที่เป็น Executive Coach ถ้าเราต้องการพัฒนา Talent ผู้ที่มีศักยภาพสูงเราก็ควรหา Talent Coach หรือเราต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ ก็ควรหา Leadership Coach เป็นต้น
2. คุณวุฒิของโค้ช
วิธีหนึ่งที่จะจัดทำรายชื่อโค้ช คือการอ้างอิงที่คุณวุฒิของโค้ช เนื่องจากโค้ชเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของชีวิตคน ความก้าวหน้าในอาชีพ หรือการยกระดับความสามารถของคน จึงเป็นวิชาชีพที่มีสถาบันรับรอง เหมือนกับอาชีพวิศวกรที่ต้องมีใบ ก.ว. นักบัญชีที่มี CPA เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
สมาพันธ์โค้ชที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมีหลายแห่ง เช่น International Coaching Federation (ICF) ซึ่งเป็นสมาพันธ์การโค้ชที่ให้การรับรองหลักสูตรสอนโค้ช และโค้ชที่สอบผ่านในระดับต่างๆ
การอ้างอิงคุณวุฒิโค้ช คือการสรรหาโค้ชที่ได้รับการรับรองในระดับ ACC, PCC, หรือ MCC ตามความเหมาะสมกับผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ
3. ทำความเข้าใจว่าโค้ชชิ่งคืออะไร
เรื่องสำคัญที่ผู้จัดทำรายชื่อควรเข้าใจคือ โค้ชชิ่ง ไม่ใช่การสอน เทรนนิ่ง ให้คำปรึกษา แต่เป็นการพัฒนาบุคลากรโดยให้ผู้นั้นได้แสดงศักยภาพด้วยวิธีที่เขานำเสนอออกมาเอง ดังนั้นโค้ชชิ่งจึงเป็นการใช้ทักษะที่แตกต่างจากการพัฒนาบุคคลวิธีอื่น (ดูเพิ่มเติม)
เมื่อได้พิจารณาทั้ง 3 ประการข้างต้นแล้ว ก็สามารถเริ่มจัดทำรายชื่อได้แล้ว แต่อาจจะไม่จำกัดที่คุณวุฒิของโค้ชหากโค้ชท่านนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการโค้ชชิ่งอย่างแท้จริง
ช่วงทำความรู้จัก
ผู้จัดทำรายชื่อสามารถทำความรู้จักโค้ชแต่ละท่านก่อนได้ อาจจะใช้วิธีศึกษาจาก Profile ของโค้ชแต่ละท่าน การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หนังสือที่เป็นผลงานของโค้ช รวมทั้งบทความต่างๆ เป็นต้น
เมื่อได้ Short List มาแล้วก็เชิญมาทำความรู้จักเพิ่มเติมได้ โดยบอกวัตถุประสงค์ที่องค์กรต้องการ และสิ่งที่ต้องการทราบจากโค้ช หัวข้อที่ควรรวมไว้ในการทำความรู้จัก ได้แก่ ประสบการณ์ด้านโค้ช ตัวอย่างลูกค้าหรือผู้รับการโค้ช เคสที่ประสบความสำเร็จ ค่านิยมของโค้ช เป็นต้น
ถึงแม้ว่าการโค้ช จะเป็นการใช้ทักษะการโค้ชมากกว่าความรู้ บางครั้งผู้รับการโค้ชหรือผู้คัดเลือกก็ยังอยากทราบประวัติการศึกษา ประสบการณ์ทำงานอื่นนอกเหนือจากการโค้ชด้วย
การทำความรู้จักนี้มักเชิญผู้รับการโค้ชมาร่วมพูดคุยด้วยได้ เรียกว่า Chemistry Check หรือการทำความรู้จักเพื่อดูว่าถูกชะตากันไหม ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากคุณวุฒิและประสบการณ์ของโค้ช เพราะการโค้ชเป็นการเดินทางร่วมกันของโค้ชและผู้รับการโค้ชเป็นระยะเวลาหลายเดือน ผ่านการสื่อสารที่ลึกซึ้ง หากบุคคลถูกจริตซึ่งกันและกันก็มีส่วนทำให้การโค้ชนั้นประสบผลสำเร็จ เช่นกัน
ช่วงการโค้ชชิ่ง
เมื่อผ่านกระบวนการคัดเลือกเข้าสู่การโค้ชชิ่งแล้ว ทีมที่ดูแลโครงการโค้ชนี้สามารถติดตามความก้าวหน้าของการโค้ชชิ่งได้เป็นระยะตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้า หากมีสิ่งใดที่เปลี่ยนไปจากตอนแรกจะได้เข้าแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ทัน
การทำรายงานการโค้ชเป็นวิธีที่องค์กรหลายแห่งเลือกใช้ เช่น รายงานการโค้ชเมื่อผ่านไปครึ่งทางและทำรายงานอีกครั้งตอนจบ เป็นต้น แต่บางองค์กรก็ไม่ได้เลือกวิธีการทำรายงานแต่เลือกวิธีอื่นๆแทน
เลือกโค้ชให้ถูกคน
แนวทางการเลือกโค้ชข้างต้นนี้ช่วยให้ทีมจัดหาโค้ชสามารถทำงานได้อย่างมีแนวทางชัดเจนมากขึ้น และน่าจะถูกใจทั้งผู้รับการโค้ชและตอบโจทย์เป้าหมายองค์กรด้วย
ส่วนปัจจัยที่ทำให้การโค้ชประสบความสำเร็จนั้นสามารถอ่านได้ในบทความเรื่องคุณลักษณะของโค้ชและผู้รับการโค้ช
======
ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข โค้ชผู้บริหาร ระดับ PCC และ ผู้แต่งหนังสือ คู่มือการโค้ช
ติดต่อได้ที่ Line@ExcellenceResource
=====
ติดตาม อัพเดตแนวคิด ฟัง อ่าน ประสบการณ์ด้านการพัฒนาผู้นำ การโค้ช และการใช้ Pattern Scanner
ได้ทั้งทาง Podcast, YouTube, Website, Social Media ดังนี้ค่ะ
Podbean: https://excellenceresources.podbean.com/
Spotify: https://open.spotify.com/show/2RlmdQGUBfWy6hpu29YisG
Youtube: Excellence Resources’s Channel
Facebook fanpage : https://www.facebook.com/ExcellenceResources/
Website: https://www.excellenceresources.com/
Website: https://www.thepatternscanner.com/
Line@ExcellenceResource https://lin.ee/liqAIck