วุฒิภาวะของโค้ช

วุฒิภาวะของโค้ช

เล่าเรื่องจากงานเขียนเรื่อง Coach Maturity: An Emerging Concept ของ Professor David Clutterbuck and Professor David Megginson โพสต์เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2012 

โค้ชชิ่งที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร? ถ้าตอบว่า คือการส่งมอบผลลัพธ์ที่ต้องการและคำตอบที่เป็นผลพลอยได้ ก็อาจจะเกิดคำถามว่าแล้วถ้าเป้าหมายในการโค้ชนั้นไม่ใช่เป้าหมายที่ถูกต้องตั้งแต่แรกหล่ะ หรือถ้าผู้รับการโค้ชต้องการรู้เพียงว่าเป้าหมายของเขาคืออะไรและทำไม ซึ่งเพียงพอสำหรับเขาที่จะไปคิดต่อเองได้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้น แม้กระทั่งโค้ชที่นั่งเงียบๆก็สามารถทำให้โค้ชชี่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เพราะได้ให้พื้นที่กับผู้รับการโค้ชคิด จัดลำดับความคิดของตัวเอง เป็นต้น

วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร แสดงให้เห็นว่าโค้ชได้รับการฝึกอบรมจากไหน แต่ก็มีโค้ชบางท่านที่มีความเป็นโค้ชโดยธรรมชาติ มีสัญชาติญาณ และ มีความสามารถในการสะท้อนความคิดอยู่ในตัวเขาอยู่แล้ว การวัดคุณภาพด้วยความพึงพอใจของลูกค้า หรือค่าตัวของโค้ชก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เด่นชัด

เมื่อการนิยามคุณภาพของโค้ชเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ผู้เขียนจึงเสนอแนวคิดเรื่อง วุฒิภาวะของโค้ช (Coach Maturity) โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาของมนุษย์ ความตระหนักรู้ การมองและตีความสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน  

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการสังเคราะห์ข้อมูลจาก Coach assessment centers หลายแห่ง เพื่อสะท้อนว่าคุณลักษณะและรูปแบบความคิดของโค้ชในแต่ละระดับของความสามารถแตกต่างกันอย่างไร ถึงแม้ว่าความสามารถของโค้ชกับวุฒิภาวะของโค้ชมีโครงสร้างและที่มาต่างกันแต่ก็มีความสัมพันธ์กัน

วุฒิภาวะของโค้ช 4 ระดับ

ผู้วิจัยได้จัดวุฒิภาวะของโค้ชเป็น ระดับ ดังนี้  

ระดับแรก Models-based โค้ชมือใหม่ที่ต้องการกระบวนการโค้ชหรือโมเดลการโค้ชที่ชัดเจน การสนทนาจึงเป็นระบบเหมือนเครื่องจักร การโค้ชเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การทำ” (Doing) มากกว่า “การเป็น” (Being) และในกระบวนการโค้ชจะมี “การแทรกแซง” (Coaching Intervention) มากกว่าการสร้างความสัมพันธ์ในการโค้ช (Coaching Relationship)

สไตล์การโค้ชเป็นแบบควบคุม (Control) โค้ชมักถามตัวเองว่า “ฉันจะพาผู้รับการโค้ชไปที่ๆฉันคิดว่าเขาต้องไปได้อย่างไร” “ฉันจะใช้เทคนิคหรือโมเดลการโค้ชอย่างไร”

ระดับสอง Process-based โค้ชใช้โมเดลหรือเครื่องมือการโค้ชอยู่แต่ก็มีความยืดหยุ่นกว่าระดับแรก ในระดับนี้โค้ชมีเครื่องมือหลากหลายมากขึ้นแต่ก็ยังให้ความสำคัญกับการหาคำตอบ ในขณะที่ผู้รับการโค้ชอาจจะไม่ได้ต้องการคำตอบแต่ต้องการความเข้าใจสถานการณ์หรือประเด็นที่ชัดเจนขึ้น

สไตล์การโค้ชเป็นแบบ Contain โค้ชมักถามตัวเองว่า “ฉันจะควบคุมแบบพอประมาณพร้อมๆไปกับการมีบทสนทนาอย่างมีความหมายได้อย่างไร” “วิธีที่ดีที่สุดที่ฉันจะนำกระบวนการต่างๆมาใช้ในการโค้ชครั้งนี้คืออะไร”

ระดับสาม Philosophy or disciplined based ในระดับนี้โค้ชมีมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการช่วยและการพัฒนามนุษย์ เขาอาจจะมีความเหมือนเครื่องจักรอยู่บ้างแต่ความสามารถในการสะท้อนความคิดก็มีสูงขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโค้ชสามารถสะท้อนการโค้ชของตัวเองได้ทั้งระหว่างและหลังการโค้ช

สไตล์การโค้ชเป็นแบบอำนวยกระบวนการ (Facilitate) โค้ชถามตัวเองว่า “ฉันจะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้โค้ชชี่ทำสิ่งนี้ได้ด้วยตัวเขาเอง” “ฉันจะรวบรวมประเด็นของผู้รับการโค้ชอย่างไรในมุมมองของฉัน”

ระดับสี่ Systemic eclectic ระดับนี้โค้ชมีอิสระจากความยึดติดในเครื่องมือและกระบวนการต่างๆ โค้ชสามารถรวบรวมความรู้ ความตระหนักรู้ และปรับตัวไปตามผู้รับการโค้ชได้ มีความสามารถในการเลือกวิธีการโค้ชที่ชาญฉลาด ใช้เครื่องมือที่ใช่ในเวลาที่ถูกต้อง เรียกว่าเป็น “ปัญญาของโค้ช” (Coaching Wisdom)  

สไตล์การโค้ชเป็นแบบ Enable โค้ชถามว่า “ทั้งฉันและโค้ชชี่ผ่อนคลายเพียงพอไหมที่จะให้ประเด็นและการไขปัญหาปรากฎขึ้นเอง” “ฉันต้องใช้เทคนิคหรือกระบวนการไหม ถ้าต้อง เรื่องราวของโค้ชชี่บอกฉันว่าฉันจะเลือกเครื่องมือที่ฉันมีมากมายอย่างไร”

ในระดับที่สี่นี้ยังมีองค์ประกอบย่อยอีกหลายเรื่องที่โค้ชต้องเรียนรู้และลงลึกไปอีก เช่น ปรัชญาเกี่ยวกับการโค้ชของตัวเอง ความเป็นอิสระจากคำถามทรงพลัง การเติบโตของตัวโค้ชเอง การรู้ว่าเราเหมาะสมกับลูกค้าแบบไหน เป็นต้น

ผู้วิจัยทิ้งท้ายว่า การรู้สึกสบายกับความสำคัญของตัวเองที่น้อยลง และยอมรับได้ว่าอะไรก็เป็นไปได้ ต้องอาศัยวุฒิภาวะของโค้ชแต่ละคนเป็นอย่างมาก การยอมรับว่าขณะนี้เราอยู่ในจุดใดน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่ในระดับที่สูงต่อไปได้

 
ความเห็นของผู้สรุปความ

วุฒิภาวะของโค้ช 4 ขั้นตอนนี้สะท้อนลำดับของโค้ช ICF เช่นกัน จากนักเรียนโค้ช สู่คุณวุฒิระดับ ACC, PCC และ MCC ดังนั้นโค้ชชิ่งไม่ใช่แค่การทำ แต่คือการเป็นของโค้ชด้วย ยิ่งระดับที่สูงขึ้นก็ไร้กระบวนท่ามากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ระดับวุฒิภาวะของโค้ชอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่บ่งบอกความนิยมจากผู้รับการโค้ช สิ่งสำคัญคือ โค้ชนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการโค้ช และผู้รับการโค้ชคาดหวังสิ่งที่ถูกต้องเช่นกัน ปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จของกระบวนการโค้ชยังมีอีกหลายประการ เช่น คุณลักษณะของโค้ช การให้พื้นที่ปลอดภัย ความพร้อมในการรับการโค้ช เปิดใจพร้อมเรียนรู้ เป็นต้น

ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข
โค้ชผู้บริหาร 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้